เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 4. สิงคาลมาตุเถริยาปทาน
[80] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา 3 หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[81] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระอุปปลทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปปลทายิกาเถริยาปทานที่ 3 จบ

4. สิงคาลมาตุเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสิงคาลมาตาเถรี
(พระสิงคาลมาตาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[82] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
[83] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลอำมาตย์
ที่รุ่งเรืองด้วยรัตนะต่าง ๆ
เป็นตระกูลมั่งคั่ง เจริญ มีทรัพย์มาก ในกรุงหงสวดี
[84] หม่อมฉันมีมหาชนห้อมล้อมไปกับบิดา
ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว บวชเป็นบรรพชิต
[85] ครั้นบวชแล้ว เว้นบาปกรรมทางกาย
ละวจีทุจริต ชำระอาชีวะให้บริสุทธิ์
[86] มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า และพระธรรม
และมีความเคารพอย่างแรงกล้าในพระสงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :530 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 4. สิงคาลมาตุเถริยาปทาน
ขวนขวายในการฟังพระสัทธรรม
มีการได้เห็นพระพุทธเจ้าเป็นปกติ
[87] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ฟังภิกษุณีรูปหนึ่ง
ซึ่งเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ฝ่ายสัทธาธิมุต
จึงปรารถนาตำแหน่งนั้นแล้วบำเพ็ญไตรสิกขา1ให้บริบูรณ์
[88] ครั้งนั้น พระสุคตผู้มีพระอัธยาศัย
ประกอบด้วยพระกรุณา ตรัสกับหม่อมฉันว่า
‘บุคคลผู้มีศรัทธาไม่หวั่นไหวตั้งมั่นดีในพระตถาคต
มีศีลดีงามที่พระอริยเจ้าใคร่และสรรเสริญ
[89] มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ มีความเห็นตรง
นักปราชญ์เรียกผู้นั้นว่า
เป็นผู้ไม่ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์’
[90] เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา
เมื่อมาระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พึงหมั่นประกอบศรัทธา ศีล ปสาทะ(ความเลื่อมใส)
และความเห็นที่ชอบธรรม
[91] หม่อมฉันได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว มีความเบิกบานใจ
ได้ทูลถามถึงความปรารถนาของหม่อมฉัน
ในครั้งนั้น พระสุคตผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นวิเศษ
ทรงมีปัญญาไม่ต่ำต้อย มีพระคุณนับไม่ถ้วน
ทรงพยากรณ์ว่า ‘เธอเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้มีธรรมอันงาม
จักได้ตำแหน่งนั้นที่เธอปรารถนาไว้แล้ว
[92] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชตระกูลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก

เชิงอรรถ :
1 ไตรสิกขา หมายถึงศีล สมาธิ และปัญญา (ที.ปา. (แปล) 11/305/272)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :531 }